ขอหนังสือเดินทางไทยที่ฝรั่งเศสทำยังไง?

Posté par: Dutsadi Commentaires: 0

หนึ่งในเอกสารสำคัญของคนไทยที่อยู่ที่ฝรั่งเศสทุกคนก็คือ « พาสปอตไทย » ซึ่งพอวันใกล้หมออายุใกล้เข้ามาแล้วก็จิตใจไม่อยู่กับเนื้อกับตัวว่า จะทำยังไงดีนะ วันนี้ AsiePro จะมาบอกวิธีการ และขั้นตอนง่ายๆ ที่จะทำให้เรื่องการขอพาสปอตสำหรับคนไทยในฝรั่งเศสไม่ยุ่งยากอีกต่อไป

*ข้อมูลทั้งหมดมาจาก สถานทูตไทยประจำประเทศฝรั่งเศส (อัพเดทเมื่อวันที่ 22 มี.ค 2021)

ข้อมูลทั่วไปสำหรับการขอหนังสือเดินทางไทยในฝรั่งเศส

  1. หนังสือเดินทางอิเล็กทรอนิกส์ (E-Passport) คือ หนังสือเดินทางที่มีการบันทึกข้อมูลชีวภาพ (Biometric Data) ได้แก่ รูปถ่ายใบหน้า ม่านตา และลายนิ้วมือไว้ใน Contactless Integrated Circuit ซึ่งฝังอยู่ในเล่มหนังสือเดินทาง และมีการเข้ารหัสข้อมูลเพื่อการตรวจสอบความถูกต้องแท้จริงของหนังสือเดินทาง
  2. E-Passport รุ่นใหม่ตั้งแต่กรกฎาคม 2563 มีอายุใช้งาน 5 ปี โดยในอนาคต ผู้บรรลุนิติภาวะ (อายุ 20 ปีขึ้นไป) จะสามารถเลือกทำหนังสือเดินทางที่มีอายุใช้งาน 10 ปีได้ด้วย ทั้งนี้ หากหนังสือเดินทางใกล้หมดอายุ (เดือนหรือน้อยกว่า) จะต้องขอทำเล่มใหม่ มิเช่นนั้นหน่วยงานตรวจคนเข้าเมืองของประเทศอื่นอาจไม่อนุญาตให้เดินทางเข้าประเทศ
  3. ข้อมูลส่วนตัวในหนังสือเดินทางจะอ้างอิงตามข้อมูลในทะเบียนราษฏร์ของผู้ขอหนังสือเดินทางที่ประเทศไทย ดังนั้น ชื่อ-สกุล ในหนังสือเดินทางเล่มใหม่จะตรงกับหลักฐานทะเบียนบ้านหรือบัตรประชาชน โดยอาจไม่ตรงกับหนังสือเดินทางเล่มเดิม
  4. หากผู้ยื่นคำร้องต้องการให้ นามสกุลในหนังสือเดินทาง เป็นนามสกุลหลังการสมรส/หย่า จะต้องแก้ไขข้อมูลทะเบียนราษฏร์ ก่อนที่จะขอทำหนังสือเดินทาง

ขั้นตอนการขอหนังสือเดินทางไทยในฝรั่งเศสใหม่

  1. กรุณานัดหมายล่วงหน้าผ่าน ระบบจองออนไลน์ (1 คน ต่อ 1 นัดหมาย) และโปรดพิมพ์ใบนัดเพื่อนำมาเป็นหลักฐานในวันรับบริการ โดยสถานเอกอัครราชทูตฯ มีสิทธิ์ไม่รับคำร้องของผู้ที่ไม่มีหลักฐานการนัดหมาย จากนั้นเตรียมเอกสารให้ครบถ้วนตามที่กำหนด และโปรดมาให้ตรงวัน/เวลาที่นัดหมาย รวมทั้งหมั่นตรวจสอบอีเมล์หรือโทรศัพท์ เพราะเจ้าหน้าที่อาจติดต่อกลับเพื่อขอเลื่อนนัดหมายหากมีเหตุจำเป็น
  2. ผู้ร้องขอมีหนังสือเดินทาง จะต้องเดินทางมาทำหนังสือเดินทางด้วยตนเอง ณ สถานเอกอัครราชทูตฯ เพื่อถ่ายรูป พิมพ์ลายนิ้วมือ และเก็บข้อมูลม่านตา (ขอความร่วมมือไม่สวมใส่คอนแทคเลนส์สีหรือแฟชั่น เพื่อป้องกันความคลาดเคลื่อนในการเก็บข้อมูลม่านตา)
  3. กรณีผู้เยาว์ (อายุต่ำกว่า 20 ปี) ทั้ง บิดาและมารดา ต้องมาแสดงตนพร้อมกันต่อหน้าเจ้าหน้าที่ ณ สถานเอกอัครราชทูตฯ (โปรดอ่านด้านล่างสำหรับข้อยกเว้น)
  4. ค่าธรรมเนียม 35 ยูโร ชำระด้วยเงินสดเท่านั้น ทั้งนี้ ระบบจะทำการบันทึกข้อมูล​หนังสือ​เดินทาง​เล่มเก่า​ (Endorsement)​ ลงในเล่มใหม่โดยอัตโนมัติ​ ซึ่ง​ไม่มีค่าธรรมเนียม​เพิ่มเติม
  5. การผลิตและจัดส่งหนังสือเดินทางใช้ระยะเวลา ประมาณ 4 – 6 สัปดาห์ นับตั้งแต่ยื่นคำร้องที่สถานเอกอัครราชทูตฯ ดังนั้น กรุณาอย่าวางแผนเดินทางหากท่านยังไม่ได้รับหนังสือเดินทางเล่มใหม่ (หากท่านมีเหตุจำเป็นเร่งด่วนอย่างแท้จริงและไม่สามารถรอได้ โปรดติดต่อ passport.par@mfa.mail.go.th เพื่อขอทำเอกสารเดินทางฉุกเฉินหรือหนังสือเดินทางฉุกเฉิน  ซึ่งจะมีอายุการใช้งาน 1 เดือนหรือ 1 ปี)
  6. ในขั้นตอนการเตรียมเอกสาร กรณีที่ผู้ร้องมีบัตรประจำตัวประชาชนไทย แต่หมดอายุ สูญหาย หรือมีข้อมูลในบัตรที่ต้องการเปลี่ยนแปลง ผู้ร้องสามารถทำ “บัตรประชาชนใบใหม่” ได้ที่สถานเอกอัครราชทูต โดยจะต้องทำการนัดหมายออนไลน์เพื่อขอทำบัตรประชาชน (โปรดคลิกที่นี่เพื่อทำการนัดหมายทำบัตรประชาชน) ทั้งนี้ ขอแนะนำให้นัดหมายทำบัตรประชาชนล่วงหน้าก่อน 1 ชั่วโมง ก่อนเวลานัดทำหนังสือเดินทาง (อย่างไรก็ตาม บัตรประจำตัวประชาชนไทยใบแรกไม่สามารถทำที่สถานเอกอัครราชทูตได้ จะต้องติดต่อขอทำที่สถานีอำเภอหรือสำนักงานเขตที่ประเทศไทยเท่านั้น)
  7. หากท่านไม่ได้รับการติดต่อกลับจากสถานเอกอัครราชทูตฯ ภายใน 60 วัน นับตั้งแต่วันที่ท่านยื่นคำร้องขอทำหนังสือเดินทาง โปรดติดต่อสถานเอกอัครราชทูตฯ เพื่อติดตามความคืบหน้าเกี่ยวกับคำร้องของท่าน ทั้งนี้ สถานเอกอัครราชทูตฯ สงวนสิทธิที่จะทำลายหรือดำเนินการอย่างใดอย่างหนึ่งกับหนังสือเดินทางซึ่งออกให้แก่ผู้ร้องไว้แล้วแต่ไม่มีผู้มารับหนังสือเดินทางนั้นตามกำหนดนัดเป็นเวลาเกินกว่า 90 วันขึ้นไป ตามระเบียบกระทรวงการต่างประเทศว่าด้วยการออกหนังสือเดินทาง พ.ศ. 2548

ถ้าไม่สะดวกไปรับหนังสือเดินทางเองล่ะ?

ผู้ที่ไม่สะดวกเดินทางมารับหนังสือเดินทางด้วยตนเองที่สถานเอกอัครราชทูตฯ และประสงค์จะรับหนังสือเดินทางผ่านช่องทางไปรษณีย์ กรุณาซื้อซองไปรษณีย์เปล่าจาก La Poste  แบบ Lettre Suivie– Prêt-à-poster ขนาดซองน้ำหนัก  500 g เท่านั้น จ่าหน้าซอง (เขียนชื่อและที่อยู่) ถึงตนเองให้เรียบร้อย และมอบให้เจ้าหน้าที่ในวันที่มายื่นคำร้องที่สถานเอกอัครราชทูตฯ ตัวอย่างซอง (ตามภาพ)

เอกสารที่ต้องเตรียม (สำหรับคนที่อายุ 20 ปีขึ้นไป)

  1. หนังสือเดินทางเล่มเดิม (ตัวจริง) ที่หมดอายุแล้วหรือกำลังจะหมดอายุ (หมายเหตุ : กรณีที่หนังสือเดินทางเล่มเดิมสูญหาย ท่านต้องแสดงใบแจ้งความที่ได้แจ้งไว้กับตำรวจฝรั่งเศสและมีอายุไม่เกิน 3 เดือน)
  2. บัตรประจำตัวประชาชนไทย (ตัวจริง) ที่มีอายุการใช้งาน
  3. เอกสารที่แสดงว่าท่านพำนักในฝรั่งเศสอย่างถูกกฎหมาย (ตัวจริง) ที่มีอายุการใช้งาน อย่างใดอย่างหนึ่ง ดังนี้
    – บัตรพำนักสำหรับผู้มีถิ่นฐานในฝรั่งเศส (Titre de séjour)
    – เอกสารชั่วคราวแทน Titre de séjour จาก préfecture (Le récépissé)
    – วีซ่าเชงเก้น
    – หนังสือเดินทางฝรั่งเศส
    – บัตรประจำตัวประชาชนฝรั่งเศส

ถ้าอายุไม่ถึง 20 ปี และเป็นหนังสือเดินทางเล่มแรกล่ะ?

ผู้เยาว์มีทั้งบิดาและมารดาเป็นบุคคลสัญชาติไทย หรือกรณีผู้เยาว์มีบิดาหรือมารดาคนใดคนหนึ่งเป็นบุคคลสัญชาติไทย

เงื่อนไขสำคัญ : บิดาและมารดาต้องมาแสดงตนพร้อมกันต่อหน้าเจ้าหน้าที่เพื่อเซ็นยินยอมในเอกสารการยื่นคำร้อง (สำหรับผู้เยาว์ ที่มีบิดาหรือมารดาเป็นผู้มีอำนาจปกครองบุตรแต่เพียงผู้เดียว โปรดศึกษา “หมายเหตุ” ด้านล่าง)

  1. สูติบัตรไทย (ตัวจริง)
  2. ในกรณีที่เกิดในฝรั่งเศส หลักฐานการจดทะเบียนคนเกิดฝรั่งเศส (หรือ L’acte de naissance) (ตัวจริง)
  3. บัตรประจำตัวประชาชนฝรั่งเศส หรือ หนังสือเดินทางฝรั่งเศส (ตัวจริง) หากมี
  4. หนังสือเดินทาง (ตัวจริง) ที่มีอายุการใช้งานของทั้งบิดาและมารดา (หากฝ่ายใดถือสัญชาติอื่นก็ให้ยื่นหนังสือเดินทางสัญชาตินั้นด้วย)
  5. บัตรประจำตัวประชาชน (ตัวจริง) ที่มีอายุการใช้งานของบิดาและ/หรือ มารดาสัญชาติไทย
  6. ใบสำคัญการสมรส (ตัวจริง) ตามกฎหมายไทยหรือตามกฎหมายต่างชาติก็ได้ (กรณีบุตรที่เกิดจากมารดาไทยซึ่งไม่ได้จดทะเบียนสมรสกับบิดา ไม่จำเป็นต้องแสดงใบสำคัญการสมรส)
  7. ใบสำคัญการเปลี่ยนชื่อ-สกุล (ตัวจริง) ของผู้เยาว์ บิดาและ/หรือมารดา

ถ้าอายุไม่ถึง 20 ปี แต่เคยมีหนังสือเดินทางแล้ว

ผู้เยาว์มีทั้งบิดาและมารดาเป็นบุคคลสัญชาติไทย หรือกรณีผู้เยาว์มีบิดาหรือมารดาคนใดคนหนึ่งเป็นบุคคลสัญชาติไทย

เงื่อนไขสำคัญ : บิดาและมารดาต้องมาแสดงตนพร้อมกันต่อหน้าเจ้าหน้าที่เพื่อเซ็นยินยอมในเอกสารการยื่นคำร้อง (สำหรับผู้เยาว์ ที่มีบิดาหรือมารดาเป็นผู้มีอำนาจปกครองบุตรแต่เพียงผู้เดียว โปรดศึกษา “หมายเหตุ” ด้านล่าง)

  1. หนังสือเดินทางเล่มเดิม (ตัวจริง) ที่หมดอายุแล้วหรือกำลังจะหมดอายุ (หมายเหตุ : กรณีที่หนังสือเดินทางเล่มเดิมสูญหาย ท่านต้องแสดงใบแจ้งความที่ได้แจ้งไว้กับตำรวจฝรั่งเศสและมีอายุไม่เกิน 3 เดือน)
  2. บัตรประจำตัวประชาชนไทย (ตัวจริง) ที่มีอายุการใช้งาน (หากมี)
  3. (สำเนา) ทะเบียนบ้านที่มีชื่อผู้เยาว์และระบุเลขประจำตัวประชาชนไทย 13 หลัก จำนวน 1 ชุด (วิธีการนำชื่อผู้เยาว์เข้าทะเบียนบ้านในประเทศไทย)
  4. สูติบัตรไทย (ตัวจริง)
  5. ในกรณีที่เกิดในฝรั่งเศส หลักฐานการจดทะเบียนคนเกิดฝรั่งเศส (หรือ L’acte de naissance) (ตัวจริง)
  6. บัตรประจำตัวประชาชนฝรั่งเศส หรือ หนังสือเดินทางฝรั่งเศส หรือ บัตร Titre de circulation (บัตรพำนักในฝรั่งเศสของผู้เยาว์) (ตัวจริง)
  7. หนังสือเดินทาง (ตัวจริง) ที่มีอายุการใช้งานของทั้งบิดาและมารดา (หากฝ่ายใดถือสัญชาติอื่นก็ให้ยื่นหนังสือเดินทางสัญชาตินั้นด้วย)
  8. บัตรประจำตัวประชาชน (ตัวจริง) ที่มีอายุการใช้งานของบิดา และ/หรือ มารดาสัญชาติไทย
  9. ใบสำคัญการสมรส (ตัวจริง) ตามกฎหมายไทยหรือตามกฎหมายต่างชาติก็ได้ (กรณีบุตรที่เกิดจากมารดาไทยซึ่งไม่ได้จดทะเบียนสมรสกับบิดา ไม่จำเป็นต้องแสดงใบสำคัญการสมรส)
  10. ใบสำคัญการเปลี่ยนชื่อ-สกุล (ตัวจริง) ของผู้เยาว์ บิดาและ/หรือมารดา จำนวนอย่างละ 1 ชุด (หากมี)

หมายเหตุ : กรณีผู้เยาว์ (อายุต่ำกว่า 20 ปี) มีบิดาหรือมารดาเป็นผู้มีอำนาจปกครองบุตรแต่เพียงผู้เดียว ให้นำเอกสารอย่างใดอย่างหนึ่งที่สามารถยืนยันการได้รับอำนาจปกครองบุตรมาแสดงต่อเจ้าหน้าที่ ได้แก่

– ใบปกครองบุตรแต่เพียงผู้เดียว (ป.ค.14) (ตัวจริง) ซึ่งออกโดยที่ว่าการอำเภอที่บิดาหรือมารดามีภูมิลำเนาในประเทศไทย
– ทะเบียนหย่า (ตัวจริง) ซึ่งระบุว่าบิดาหรือมารดามีอำนาจปกครองบุตรแต่เพียงผู้เดียว (ในกรณีหย่าโดยศาลฝรั่งเศสให้นำไปประทับตรารับรองที่กระทรวงการต่างประเทศของฝรั่งเศสก่อน จากนั้นจึงนำไปแปลเป็นภาษาไทย และทำการรับรองจากสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงปารีส)
– ใบมรณบัตร (ตัวจริง) โดยในกรณีใบมรณบัตรฝรั่งเศสให้นำไปประทับตรารับรองที่กระทรวงการต่างประเทศของฝรั่งเศสก่อน จากนั้นจึงนำไปแปลเป็นภาษาไทย และทำการรับรองจากสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงปารีส

*สำหรับข้อมูลที่อัพเดทขอให้เข้าไปดูที่ เว็บไซต์สถานทูตฝรั่งเศสประจำประเทศไทย